วันจันทร์ที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2557

ผลิตแก๊สจากขยะ - บอกเล่าชาวมอ




ผลิตแก๊สจากขยะ - บอกเล่าชาวมอ





       ใครจะเชื่อบ้างว่า “ขยะ” ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งไร้ค่า แต่วันนี้ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นแก๊สหุงต้มที่สามารถใช้งานได้จริง การันตีโดยคณาจารย์ และนักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม

วันจันทร์ 29 กันยายน 2557 เวลา 00:00 น. 

ใครจะเชื่อบ้างว่า “ขยะ” ที่ดูเหมือนเป็นสิ่งไร้ค่า แต่วันนี้ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นแก๊สหุงต้มที่สามารถใช้งานได้จริง การันตีโดยคณาจารย์ และนักศึกษาจากสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา จังหวัดเชียงราย ที่เห็นคุณค่าของขยะ และนำขยะที่เหลือใช้มาประดิษฐ์และพัฒนาเป็นชุด “ถังแก๊สชีวภาพจากเศษอาหาร เพื่อใช้ในครัวเรือน” ซึ่งสอดรับกับยุคนี้ที่ราคาแก๊สหุงต้มมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง



“นัท” นายสิทธิณัฐ ถาวรกูล นักศึกษาชั้นปี 4 หนึ่งในเจ้าของผลงาน เล่าว่า ตนและเพื่อน ๆ เห็นความสำคัญของปัญหาขยะมูลฝอย เพราะนับวันจะมีปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น และทุกวันนี้ยังมีคนจำนวนมากมักนำเศษอาหารมาทิ้งรวมกับขยะทั่วไป ทำให้ขยะเหล่านั้นเป็นขยะเปียก และส่งกลิ่นเหม็น รวมทั้งเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคต่าง ๆ นี่จึงเป็นที่มาของการประดิษฐ์ และพัฒนาชุดถังแก๊สชีวภาพจากเศษอาหารฯ ซึ่งมี ดร.มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม เป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย เหมือนเครื่องใช้ในครัวเรือนทั่วไป อีกทั้งไม่ยุ่งยากในการบำรุงรักษา เหมาะกับทุกครัวเรือน โดยไม่ต้องซื้อแก๊สมาใช้หุงต้มอาหาร



’ชุดถังแก๊สชีวภาพจากเศษอาหารฯ ใช้ระบบ 3 ถัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานให้ดีขึ้น โดยขั้นแรกของกระบวนการผลิตแก๊สนั้น จะใส่ขี้วัวลงไปในถังก่อน และรอให้มีจุลินทรีย์ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 7-15 วัน จากนั้นให้ใส่ขยะที่เป็นเศษอาหารลงไปวันละ 1 กิโลกรัม ซึ่งจุลินทรีย์จะช่วยย่อย ทำให้เกิดแก๊สมีเทน และแก๊สไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือแก๊สไข่เน่าขึ้นมา และเมื่อแก๊สเต็มถังแล้วจะใช้การสูบ โดยมีระบบกรองเอาแก๊สเข้าไปเก็บไว้ในถังแก๊สที่เราใช้ปกติในครัวเรือน แต่จะกรองเอาแต่แก๊สมีเทนเท่านั้น เพราะแก๊สไข่เน่าจะมีกลิ่นเหม็น ซึ่งเมื่อนำไปใช้อาจมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้”



ผลงานชิ้นนี้ถูกนำมาทดลองใช้จริงแล้วภายในมหาวิทยาลัย และขณะนี้หลายหน่วยงานเริ่มติดต่อขอเข้ามาดูงาน ซึ่งในอนาคตจะ


มีการนำผลงานชิ้นนี้ไปตั้งไว้ที่ชุมชนรอบมหาวิทยาลัยด้วย เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการกำจัดขยะ นอกจากนี้จะมีการพัฒนาผลงานให้เป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้น เพราะปัจจุบันเมื่อแก๊สเต็มถังยังต้องใช้คนมาจัดการ เพื่อนำแก๊สอัดเข้าถังแก๊สปกติ แต่ต่อไปจะทำเป็นแบบอัตโนมัติ สามารถนำแก๊สไปใช้ได้โดยง่าย และสะดวกมากขึ้น



เห็นผลงานดี ๆ แบบนี้แล้วต้องบอกต่อ เผื่อจะช่วยจุดประกายไอเดียเด็ด ๆ ในการแปลงขยะให้มีมูลค่า ซึ่งหากทุกคนช่วยกันคิดอย่างจริงจัง เชื่อแน่ว่าปริมาณขยะในเมืองไทยคงจะลดลงได้ในไม่ช้า.




ที่มา : มณีรัตน์ ศิริปัญจนะ dailynewscampus@gmail.com


  อ้างอิง
      ผลิตแก๊สจากขยะ - บอกเล่าชาวมอ.  ออนไลน์เข้าถึงได้จาก.  http://goo.gl/gnDzhE   สืบค้น ณ วันที่  29/09/2557.






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น